ทำอย่างไรให้ลูกน้องเชื่อฟัง
ทำอย่างไรให้ลูกน้องเชื่อฟัง
สวัสดีค่ะ จากเดือนที่แล้วได้ทำจิตทำใจให้มีความสุขกับปัจจุบันแล้ว เดือนนี้ก็ต้องหันมาแนะนำเรื่องงานการเหมือนเดิมค่ะได้อ่าน หนังสือ aA stationery หน้า 32 เห็นว่าสามารถนำมาใช้กับการทำงานได้จริง ๆ สำหรับหัวหน้าและลูกน้อง จึงนึกถึงสมาชิกนำมาให้ได้อ่านบ้างค่ะ เรื่อง ทำอย่างไรให้ลูกน้องเชื่อฟัง เทคนิคต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นทันที วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ลูกน้องเชื่อฟัง คือ ความพยายามในวิธีเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
1. อย่ามองข้ามข้อเสนอแนะ แม้จะดูเล็กน้อย
ลูกน้องที่ไฟแรง บางครั้งจะมีข้อเสนอแนะสำหรับร้านมาให้เราฟังเวลาคุยกัน อย่างเช่น หนูว่าเราน่าจะหากล่องขยะวางบนเคาน์เตอร์ สำหรับลูกค้าที่ไม่เอาใบเสร็จดีไหมคะ พอเข้างานปุ๊บ หนูว่าจะเริ่มจากกวาดร้านก่อน ทำแล้วรู้สึกมันดียังไงก็ไม่รู้นะหนูว่า หนูว่ากระติกน้ำร้อน ตอนนี้มันเล็กไปสำหรับลูกค้าที่ซื้อหมี่กระป๋อง น้ำร้อนเดือดไม่ทัน อยากให้พี่ช่วยซื้อกระติกเพิ่มให้จังเลย ความคิดเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ จากลูกน้องเหล่านี้ถ้าไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ ควรจะรีบรับมาจัดการให้ทันทีและควรชมเพิ่มเติมด้วยเพราะหายาก ข้อเสนอแนะหรืออุปกรณ์ในร้านที่อยากให้ปรับปรุงเหล่านี้ ให้รีบรับมาในทันที เพราะเจ้าตัวคนพูดจะได้เห็นด้วยเลยว่า สิ่งที่ตนเองเสนอไปมีคุณค่าจนเจ้าของร้านกุลีกุจอนำไปปฏิบัติ อย่าทิ้งไว้นานไปเพราะความภูมิใจของคนแนะนำจะลดลงและจะเลวร้าน ที่สุดถ้าเขาเสนอแล้วเจ้าของร้านฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะนั่นไม่เพียงแต่ทำให้เขา เซ็ง เท่านั้น ความเคารพเชื่อฟังก็จะลดลงไปด้วย
2. ทำอะไรต้องไว้ฝีมือให้เห็น
อย่าคิดว่าเจ้าของร้านจะเป็นผู้เช็คอยู่ฝ่ายเดียว ลูกน้องเองก็เช็คการกระทำและฝีมือของเจ้าของร้านอยู่เหมือนกัน ฝีมือที่เจ้าของร้านจะไว้ลายให้ลูกน้องทุกคนเห็นชัดที่สุดคือ ฝีมือในการสั่งของ เพราะฝีมือในการรับสินค้านั้น ลูกน้องที่เข้ากะเดียวกับเจ้าของร้านเท่านั้นถึงจะเห็น แต่ถ้าเป็นการสั่งของ ทุกคนในร้านจะเช็คในร้านได้ตลอดจากยอดรับของ ถ้าเจ้าของร้านสั่งมั่ว ๆ เดี๋ยววันนี้มากไป วันนั้นน้อยไป ของขายดีแทนที่จะสั่งเยอะกลับสั่งเท่ากันกับของขายไม่ดี อะไรอย่างนี้ล่ะก็ ลูกน้องที่ขายออกไปตลอดจะวัดกึ๋นของเจ้าของร้านได้ทันที ดังนั้นเจ้าของร้านจึงต้องเอาใจใส่เรื่องการสั่งของให้มากที่สุด อย่าทำให้ลูกน้องไปนินทาลับหลังได้ว่า เจ้าของร้านฉันน่ะมั่วชะมัด สั่งมาแต่ของที่ขายไม่ได้เต็มร้านไปหมด แล้วยังมาว่าฉันอีกว่าทำงานไม่ได้เรื่อง ทีตัวเองล่ะ
แต่ถ้าเจ้าของร้านไว้ลายด้วยการสั่งของแต่ละชนิดได้อย่างพอดิบพอดี ลูกน้องจะซูฮกโดยไม่ต้องทำอะไรมากและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถือเชื่อฟัง
3. อย่านินทาลูกน้องคนนี้กับลูกน้องอีกคน
ลูกน้องมีได้หลายประเภท ทั้งประเภททำงานดีเลิศ ช่วยงานอย่างเต็มใจ ซื่อสัตย์ อ่อนน้อมเชื่อฟัง ไปจนถึงประเภทเกี่ยงงาน เถียงคำไม่ตกฟาก ทื่อมะลื่อเป็นตอไม้ จนบางครั้งเจ้าของอย่างเรา ๆ ที่ยังเป็นปุถุชน อยากจะอาละวาดฟาดหัวฟาดหางให้สมอยากแต่.....อย่างเชียวนะ ที่จะไประบายเรื่องลูกน้องคนนี้กับลูกน้องคนอื่นในร้าน เพราะจริงอยู่ การเมาท์กับลูกน้องคนหนึ่งถึงลูกน้องอีกคนที่ไม่ชอบด้วยกัน ทั้งมันทั้งเพลินก็จริง แต่ลูกน้องคนที่เราเมาท์ด้วย เขาก็ไม่โง่พอที่จะไม่คิดหรอกว่า พี่เขานินทาคนนี้กับฉัน แล้วเขาจะไม่นินทาฉันกับคนอื่นหรือ แล้วในที่สุดก็จะ ไม่มีใครไว้ใจในตัวเจ้าของร้านเลย ข้อมูลที่ลูกน้องมาบอกเราถึงลูกน้องคนอื่นนั้นให้รับฟังไว้เงียบ ๆ อย่าไปผสมโรงโดยเด็ดขาด เพราะไม่ได้เป็นผลดีเลยกับความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเราที่ลูกน้องจะมีให้
4. คุยกันฉันมิตรบ้างก็ได้
ถึงจะทำงานร่วมกันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง จะให้พูดแต่เรื่องงานอย่างเดียวก็คงจะอึดอัด เจ้าของร้านควรจะเอาใจใส่ถามถึงทุกข์สุขของลูกน้องบ้าง แต่อย่าไปลงลึกถึงกับให้เวลาปรึกษาหัวใจเป็น ชั่วโมง ๆ หรือถลำตัวไปตั้งตนเป็นพ่อแม่คนที่สองของเขา เราไม่ได้ว่างอะไรขนาดนั้น แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องของเราอีกด้วยแค่ไต่ถามทุกข์สุของเด็กแต่ละคน ประโยคสองประโยคอย่าง สอบเสร็จหรือยังจ๊ะ? วันนี้หน้าซีดจัง อะไรประมาณนี้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เป็นการแสดงน้ำใจฉันมิตรจากเราให้ก่อน อย่างนี้เด็กใหม่ที่ยังไม่ค่อยสนิทก็จะเริ่มเปิดใจให้แ ละการแสดงน้ำใจนี้ ควรเผื่อแผ่ให้กับแม้คนที่ไม่ค่อยจะเข้าหน้าเราคนที่เราไม่ค่อยจะชอบหน้าให้เท่าเทียม ไม่งั้นจะเป็นการแสดงความลำเอียง ซึ่งจะเป็นต้นเหตุหนึ่งของการไม่เชื่อฟังและไม่เคารพ เข้าใจนะว่าจะให้ฝืนทักคนที่ไม่สนิทหรือคนที่ไม่ค่อยจะชอบหน้านั้นเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้ทำใจว่า นี่ก็เป็นงานอย่างหนึ่งที่ต้องฝ่าฟัน ก็จะพอทำได้เอง
5. อย่าใช้อารมณ์
การจัดการเวลาลูกน้องทำอะไรผิดนั้น ถ้ายังอยากให้เขาทำงานต่อด้วย ต่อหักใจตัวเองไม่ให้โกรธโดยเด็ดขาด เมื่อไม่โกรธ แล้วก็จะไม่ดุไม่ว่า วิธีการก็จะเปลี่ยนจากการ ว่ากล่าว มาเป็น สอน คนเราเมื่อโกรธขึ้นมาแล้ว จะมีการระบายออกใส่ผู้ที่ทำให้เราโกรธได้หลายวิธี ถ้าอารมณ์ปะทุก็จะเป็นการดุว่า ถ้าพอจะควบคุมอารมณ์ไว้อยู่ก็จะเป็นการตำหนินติเตียนความโกรธจะบดบังการชี้แจงให้เห็นถึงสาเหตุของความผิดพลาดหากเอาแต่ว่ากล่าวตักเตือกโดยไม่ชี้แจงถึงสาเหตุ ผู้ถูกดุแม้จะปรับปรุงตัวแต่ก็จะเป็นการทำเพราะ ต้องทำ...ไม่งั้นถูกดุ หรือ อย่าทำเดี๋ยวถูกว่า ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเข้าใจถึงสาเหตุว่า ทำแล้วมันส่งผลเสียอะไรให้ ดังนั้น การจัดการเวลาลูกน้องทำพลาดอย่างใช้วิธีดุที่แสดง อารมณ์โกรธให้เก็บอารมณ์ไว้ ทำใจให้มีเมตตาแล้วเปลี่ยนมาเป็นทำใจ สอน เขาแทน ถึงสาเหตุว่าทำพลาดแล้วจะส่งผลอย่างไร เมื่อเขาเข้าใจแล้ว ก็จะหยุดความผิดพลาดนั้นได้อย่างถาวร
สิ่งเหล่านี้หากทำได้สม่ำเสมอความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องคงยั่นยืนค่ะ เดือนนี้ไว้เท่านี้ก่อนนะค่ะสวัสดีค่ะ
|