สมรรถนะของจิต
สวัสดีค่ะ เดือนนี้เป็นเดือนของพุทธศาสนา และเป็นเดือนของความรัก จริงๆ แล้วหากผู้ที่ได้ศึกษาในเรื่องของพุทธศาสนาจะทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามีความรักความเมตตาให้กับทุกชีวิตบนโลกนี้ โดยท่านได้ชี้ให้เห็นถึงหนทางแห่งความพ้นทุกข์ และสิ่งเริ่มต้นของการศึกษาเรื่อง ความทุกข์เราควรต้องรู้ถึงคำว่า จิต ในเดือนนี้จึงขอยกบทความของ คุณสานขวัญ กาญจนา ในเรื่องสมรรถนะของจิต มาให้ทุกท่านได้ศึกษาเพิ่มเติม
คำว่าจิตกับใจ มีความหมายเหมือนกัน ในภาษาธรรมนิยมใช้คำว่าจิตแทนคำว่าใจ
แต่ไปๆมาๆ เราก็มีคำถามเกิดขึ้นกับตัวเราเองว่าเราจะพัฒนาสมรรถนะของจิตได้อย่างไร??
พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีการพัฒนาจิตไว้ 2 วิธี ด้วยกัน
วิธีแรก คือการทำสมาธิ หรือ สมถกรรมฐาน หมายถึงการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจได้พักจาก การคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของจิตที่คุ้นเคยอยู่ในวิถีชีวิต ทำให้จิตขาดความสงบสุข อ่อนล้าไม่มีพลัง หรือที่ผู้เขียนเองก็เคยรู้สึกบ่อยๆ และมักเรียกอาการนี้ว่า อาการจิตตก นั่นเอง และนอกจากนั้นยังเป็นช่องทางให้กิเลศตัณหาเข้าไปสะสมหมักหมมอยู่ในจิตใจ วิธีทำสมาธิมีมากมายหลายวิธี แต่ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยพุทธองค์ก็คือ การให้จิตมีสติรู้อยู่กับลมหายใจ เข้า-ออก หรือที่ดัดแปลงปฏิบัติกันในปัจจุบันที่เรียกว่า พุท-โธ
วิธีที่สอง คือการทำ วิปัสสนา หรือ วิปัสนากรรมฐาน หมายถึงการฝึกจิตใจให้เกิดปัญญารู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงตามกฏของธรรมชาติ คือความเป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) อนัตตา(ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง บังคับไม่ได้ดังปราถนา)เพื่อให้จิตถอดถอนจากความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดที่เห็นว่าชีวิตนี้เป็นตัวกู และสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่เป็น ของกู อันเป็นเหตุที่นำทุกข์มาให้ และเป็นขุมกำลังให้ฝ่ายกิเลสตัณหามีกำลังเข้มแข็งในจิตใจ
สมถะ-วิปัสสนา จะทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มสมรรถนะของจิตชำระฝ่ายอกุศลอันเกิดจากกิเลสตัณหาที่หมักหมมอยู่ในจิตให้จางลงขณะเดียวกันก็เพิ่มกำลังของฝ่ายกุศลในจิตให้เข้มแข็งขึ้นช่วยให้เอาชนะความชั่ว มั่นคงต่อความดีวิธีนี้วิธีเดียวที่จะชำระจิตให้ผ่องใสพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง แต่ถ้าหากยังฝึกไปไม่ถึงดังวิธีข้างต้นนั้นแล้วขอให้รู้เท่าทันความทุกข์ก็พอเป็นหนทางที่พอจะเอาตัวรอดได้
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ง่ายๆเช่น ในวันหนึ่งๆ เราต้องพบผู้คนที่หลากหลาย การพูดคุย หรือสนทนากันก็อาจทำให้เราเกิดอาการจิตตกได้เหมือนกัน ด้วยว่า อาจจะมาจากน้ำเสียง ท่าทาง รวมถึงสายตาของคู่สนทนาที่ทำให้ตัวเราเองเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าเราพอจะจับจิตของตัวเองได้ครั้งต่อไป ก็ต้อง หาวิธีหรือพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่คุยด้วย เพราะรู้แล้วเป็นแน่แท้ว่า ถ้าคุยด้วยแล้ว จะเกิดทุกข์รออยู่ข้างหน้าเพราะอย่างนี้เองเราถึงเรียกว่า ถ้าเราเห็นทุกข์แล้วเราอย่าวิ่งเข้าหาทุกข์นี่ก็เป็น หลักคิดง่ายๆ ที่ผู้เขียนเองก็พยายามฝึกอยู่เลยอยากให้ทุกคนไม่ตั้งอยู่บนความประมาท เพราะชีวิตในโลกของความเป็นจริงแล้วมีทุกข์ภัยอยู่รอบด้านถ้าเรารู้วิธีเห็นทุกข์แล้ว อย่าพาตัวเองเข้าหาทุกข์เพราะในที่สุดเราจะที่ ทุกข์แบบไม่มีที่สิ้นสุด